โษณาต่อต้านคอรัปชั่น

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

การจัดดอกไม้


ศิลปะการจัดดอกไม้ "อิเคบานะ"

    
     ศิลปะการจัดดอกไม้ ไม่เพียงจัดดอกไม้ให้งาม ยังจัดใจให้นิ่ง การจัดวางองค์ประกอบ เลือกบางอย่างให้เหมาะสมและสมดุล ยิ่งเข้าสู่สภาวะธรรมชาติมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งเข้าใจแง่มุมชีวิต ไม่ต่างจากนักจัดดอกไม้รายนี้ เขาเรียนรู้ชีวิตจากกิ่งก้านของดอกไม้

     การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นหรืออีเคบานะ เป็นความงามง่ายและเป็นธรรมชาติ อาจประกอบด้วยกิ่งไม้บ้าง ดอกไม้บ้าง อย่างละนิด อย่างละหน่อย ดูแล้วทั้งสมถะ ทั้งสง่างาม
     หลายคนบอกว่า การจัดดอกไม้ญี่ปุ่นก็เหมือนการไม่จัด
     แต่ลีลาดอกไม้ลักษณะนี้ ยิ่งสร้างความสะดุดตา สะดุดใจให้กับผู้พบเห็นทั่วไป ซึ่งก็รวมถึง นวรัตน์ เลขะกุล อดีตผู้อำนวยการอาวุโส ภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเขาเกษียณอายุราชการแล้ว เป็นคอลัมนิสต์มีผลงานหนังสือหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหรียญ ธนบัตร ผ้าไทย หรือแม้แต่เรื่องการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นหรืออีเคบานะ เขาได้จากประสบการณ์ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง และค้นคว้าเอกสารข้อมูล
     นวรัตน์ใช้เวลาเรียนที่ญี่ปุ่น ปี นอกจากวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ เขายังได้วุฒิบัตรจากโรงเรียนจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น พอกลับมาเมืองไทยได้เข้ารับราชการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีความสุขกับการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น รวมถึงมีโอกาสสาธิตในงานต่างๆ
     ย้อนเวลาไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนนวรัตน์วัย 17 ปี ถูกส่งไปเรียนที่ญี่ปุ่น เขาบอกว่า แม่ไม่อยากให้เขาเป็นทะโมน จึงตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่างประเทศที่ไหนสักแห่ง ในที่สุดเป็นญี่ปุ่น เพราะเพื่อนของแม่ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนไทยที่นั่น จึงวางใจฝากฝังให้เขาไปอยู่ด้วยระยะหนึ่งก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จนย้ายเข้าไปอยู่หอพักเหมือนนักเรียนทั่วไป
     ในช่วงที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่น ก็ใช้ชีวิตอย่างนักเรียนทั่วไป แต่ที่น่าสนใจก็คือ ห้างสรรพสินค้ามักมีการจัดนิทรรศการ เพื่อให้คนแวะไปดูได้สะดวก อย่างการจัดดอกไม้ ก็เป็นการนำศิลปะเข้าไปหาคน
     ถ้าเก็บไว้ที่หอศิลป์ก็จะมีคนเดินไปชมสองสามคน
     งามแบบธรรมชาติ
     ชีวิตในวันนั้นทำให้เขาเห็นรูปแบบการจัดดอกไม้ในสไตล์ใหม่ เด็กไทยอย่างเขาได้มีโอกาสเติบโตในดินแดนดอกไม้ประดิษฐ์ ทั้งมาลัยและพานพุ่ม สิ่งที่เขาพบเห็นจึงดูแปลกตาสำหรับเขา
      “ผมเข้าไปยืนดูด้วยความอัศจรรย์ใจ ทำไมใช้ดอกไม้น้อยขนาดนี้ ไม่เหมือนบ้านเราที่ต้องโปะให้เต็มเหนี่ยว จัดดอกไม้ต้องใช้ดอกไม้เยอะๆ สีต้องเยอะๆ นอกจากมันจะจัดน้อยแล้ว ผมเห็นมันเป็นศิลปะ” นวรัตน์ เล่าถึงความประทับใจแรกที่เกิดขึ้น เมื่อได้เห็นรูปแบบการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ที่แปลกตาไปจากไทยที่ใช้ดอกไม้จำนวนมาก
      ด้วยสไตล์การจัดดอกไม้แบบง่ายๆ เป็นธรรมชาติ ท้าทายให้เขาอยากรู้ว่า มันมีความยากอย่างไร เขาจึงตัดสินใจเข้าไปเรียนจัดดอกไม้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อให้รู้จริง และระหว่างนั้นก็เรียนมหาวิทยาลัยไปด้วย
      โรงเรียนที่นวรัตน์เริ่มต้นเข้าไปเรียน เป็นที่รู้จักกว้างขวาง มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โตเกียว มีผู้คนนิยมไปเรียนจำนวนมาก ทั้งคนญี่ปุ่นและชาวต่างชาติทั้งยุโรปและเอเชีย นั่นเป็นการจัดดอกไม้สาย โซเกตซึ’ แม้จะมีอายุกว่า 100 ปี แต่เป็นสไตล์ใหม่
       โรงเรียนจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นมีหลายสายด้วยกัน แต่มีรากเหง้าจาก 'อีเคบานะหรือวิถีแห่งดอกไม้ ซึ่งแตกสายไปตามยุคสมัย อย่างโซเกตซึที่นวรัตน์เรียน เกิดขึ้นราวต้นศตวรรษที่ 20 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีการเชื่อมโยงความรู้กับทางยุโรป
       การจัดดอกไม้ในสายนี้จะคำนึงถึงเรื่องศิลปะเป็นหลัก ต้องมีองค์ประกอบเข้ามาผสมผสาน ทั้งเรื่องสัดส่วน ช่องว่าง น้ำหนัก สี ความรู้สึก เส้นตั้ง เส้นนอน และผิวสัมผัส อีกสายหนึ่งที่นวรัตน์เข้าเรียนภายหลังคือสาย 'มิโชเป็นการจัดดอกไม้ญี่ปุ่นแบบโบราณ มีมานานราว 400-500 ปี
       มิโช แปลว่า สิ่งมีชีวิต สะท้อนมุมมองของคนญี่ปุ่นที่มีต่อดอกไม้ การจัดดอกไม้ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบสามประการ คือ สวรรค์ มนุษย์ และโลกเท่านั้น
      “วิธีการสอนการจัดดอกไม้ของเขาโบราณมาก ห้องเรียนเงียบมาก อาจารย์ก็ไม่พูดอะไรเลย เพียงบอกว่าดอกนี้สูงแค่นี้นะ แล้วอีกดอกสูงแค่ไหน จัดให้ดูแล้วดึงออกให้เราทำตาม ผมต้องมาค้นคว้าภายหลังถึงได้ทราบว่าจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นแยกเป็นสามจุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นวรัตน์ ว่า เป็นสไตล์ที่ปรับแล้ว หลังจากที่พุทธศาสนาเข้าไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น
       วิถีดอกไม้ วิถีธรรมะ
      สำหรับสไตล์การจัดดอกไม้ญี่ปุ่นโบราณขนานแท้ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธพุทธเข้ามา คนญี่ปุ่นจะจัดกิ่งสนธรรมดาถวายเทพในลัทธิชินโต กิ่งสนเป็นต้นไม้ชนิดเดียวที่เขียวสดตลอดปี ในฤดูที่ต้นไม้ชนิดอื่นใบไม้ร่วงหมดต้น มีเพียงต้นสนเท่านั้นที่งามสง่า
      ภายหลังญี่ปุ่นรับพุทธศาสนาเข้ามา และติดต่อกับจีน จึงเริ่มจัดดอกไม้ถวายพระ เมื่อผสมผสานเข้ากับสไตล์การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นโบราณ จึงได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน
      นวรัตน์ ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ทั้งจากหนังสือและการเรียน เขาไม่ได้อ่านเฉพาะหนังสือการจัดดอกไม้ แต่เรื่องราวที่อ่านมีความหลากหลาย รวมถึงได้ศึกษาวิถีบูชิโดของนักรบซามูไร
      การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นมีความแนบแน่นกับปรัชญาและศาสนา โดยเฉพาะตามแบบอย่างเซน ที่ให้ความสำคัญกับความ ว่าง’ ของจิตใจ ซามูไรนำการจัดดอกไม้มาใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการฝึกจิตให้ว่าง โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องศาสนา
       นวรัตน์ เล่าถึงข้อมูลที่เขาค้นคว้ามาว่า ซามูไรนำการจัดดอกไม้ ชงชา และการเขียนโคลงมาสอนพวกขุนศึก เพื่อฝึกฝนเรื่องการทำจิตให้ว่าง เมื่อรบก็ไม่พะวงว่า ตัวจะตายหรือไม่ตาย ทำให้รบได้เต็มที่ และเมื่อต้องฆ่าคน ก็ต้องทำใจว่าเป็นเรื่องของหน้าที่
       การจัดดอกไม้พัฒนามาหลายยุคหลายสมัย แต่ต้องไม่ลืมองค์ประกอบสามประการ คือ สวรรค์ มนุษย์ และโลก ตามหลักของจีนแล้ว มนุษย์นั้นฟ้าให้มาเกิด แล้วให้ดินเลี้ยง มนุษย์ก็อยู่ระหว่างฟ้ากับดิน จิตใจเอนเอียงไปทางไหน
      “ช่อไม้ตรงกลางก็เลี้ยวขึ้นบนหรือลงล่างก็ได้ การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นจึงมีสามช่อ แล้วเติมทีละสอง การจัดเริ่มจากสามช่อตรงกลาง จะขึ้นสวรรค์หรือนรกก็อยู่ตรงกลางก่อน
      จัดแบบอีเคบานะ
       นวรัตน์ บอกว่า อีเคบานะเป็นเหมือนการเรียนที่ไม่มีวันจบสิ้น เขาได้พบสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอจากการจัดดอกไม้ แม้ว่าจะจัดมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 30 ปี ก็ยังต้องค้นหาไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้เบื่อ
       การจัดดอกไม้ทำให้ใจเย็น และที่สำคัญเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ไม่เฉพาะธรรมชาติของดอกไม้ แต่เชื่อมโยงไปถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมด
      “ซื้อดอกไม้ก้านมันเบี้ยวไป เบี้ยวมา ก็ธรรมชาติของมัน มันงอกอย่างนั้นมานานแล้ว อยู่ๆ ไปตัดมันมา แล้วก็มาจัด ไปบีบโน่น บีบนี่ จะรีบทำให้เสร็จ มันก็หัก มันก็ทำให้คิดได้ว่า เราจะเปลี่ยนอะไรหรือใครภายในนาทีสองนาทีได้หรือ
       เรื่องที่ได้เรียนรู้จากการจัดดอกไม้ นวรัตน์ บอกว่า เป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกับคนอื่น ถ้าเราเป็นผู้บังคับบัญชา ก็จะเข้าใจมนุษย์มากขึ้น คนเราเกิดในสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องสอนและใช้เวลาเหมือนการดัดดอกไม้ ออกแรงมากเกินไป ก็จะหักทันที แต่การจัดดอกไม้ทำให้เรารู้จักเอ็นดูคนอื่นมากขึ้น
       “จัดดอกไม้ยังกลัวดอกไม้หักเลย จะพูดกับคน ก็ต้องทะนุถนอมกันหน่อย ดอกไม้ซื้อมาจากตลาดจะเอามาจัดก็ยังต้องแช่น้ำพักไว้ให้หายเหนื่อยก่อน ไม่อย่างนั้นมันก็จัดไม่ได้ สลบคอพับคออ่อนเลย คนก็เหมือนกันนวรัตน์ ว่า จัดดอกไม้ต้องจัดทั้งหมด ทั้งดอกไม้และแจกัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง
       การจัดดอกไม้ก็มีวิถีทางของมันเอง เหมือนวิถีของดาบก็คือ เคนโด้ วิถีของความยืดหยุ่นก็เป็นยูโด วิถีแห่งชาหรือวิถีแห่งดอกไม้ก็ไม่ต่างกัน
       นวรัตน์ บอกว่า วิถีแห่งดอกไม้ถูกจริตเขา ตัวเขาเองเคยบวชและมีโอกาสฝึกวิปัสสนา เขาชอบภาวะแห่งสมาธิ ชอบความนิ่ง หลังจากลาบรรพชาแล้ว เขายังได้ลิ้มรสความนิ่งและความว่างจากการจัดดอกไม้
       “จัดดอกไม้ให้ได้อย่างใจ ใจก็ต้องนิ่ง ถ้าฟุ้งซ่านก็ต้องเลี้ยงให้นิ่งลงก่อน ถ้าหงุดหงิดวุ่นวายก็จัดไม่ได้ ก็หัก ก็เบี้ยว” นวรัตน์ว่าเท่านั้นยังไม่พอ จัดเสร็จแล้วเอาไปวางให้บ้านสวยก็อิ่มใจ ใครผ่านไปผ่านมาได้เห็นได้ชื่นชมพลอยอารมณ์ดีไปด้วย
        นอกจากการสาธิตจัดดอกไม้ตามโอกาสต่างๆ แล้ว นวรัตน์อยากจะสอนศาสตร์การจัดดอกไม้ให้กับคนอื่นด้วย ไม่อยากให้วิชาตายไปกับตัวเอง จึงได้เรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือออกมา และที่ผ่านมาเคยเปิดโรงเรียนสอน แต่สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทั้งๆ ที่ขาดทุนก็ยังเปิดสอน ปัญหาค่าสถานที่หนักมาก จึงพยายามปรับมาใช้ดอกไม้ไทยตามฤดูกาล ทำแล้วมีความสุขจึงพยายามสู้จนกระทั่งปิดตัวไป ระยะหลังมีคนขอมาเรียนบ้าง ถ้าพร้อมทั้งเรื่องดอกไม้และเรื่องเวลาก็สอน เรื่องโรงเรียนก็ยังคิดอยู่ ยังอยากจะเปิดสอน
        ถ้าจะต้องสอน ก็ต้องมีเป้าหมายชัดเจน ทั้งคนเรียนและคนสอน หากต้องการเรียนเพื่อจัดเป็นอาชีพก็เน้นเรื่องความสวยงามไป แต่ถ้าอยากฝึกเรื่องสมาธิทำจิตให้ว่าง ก็มีรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าทางไหนก็ต้องเรียนรู้การจัดให้เกิดความชำนาญก่อน พอมีความคล่องแคล่วแล้ว จิตใจก็วุ่นวายน้อยลง
        ภาวะความว่างในจิตใจเป็นเรื่องหอมหวาน เป็นภาวะที่ได้พักหัวใจอย่างแท้จริง ตลอด 30 ปีนวรัตน์ยังมีความสุขกับการจัดดอกไม้ เขาบอกว่า มีความสุขทุกครั้งที่ลงมือจัดดอกไม้ จัดเสร็จจะอิ่มใจทุกครั้ง เหมือนได้เข้าสู่สมาธิ ทุกครั้งที่จัดจะได้เห็นความก้าวหน้าของตัวเอง
        “ความอิ่มใจ มันเกิดจากหลายอย่าง เราเป็นคนหนึ่งที่สร้างความงามให้กับโลก เราไม่ใช่คนที่เอาเปรียบ เราทำให้คนอื่นได้ชื่นชมความงาม มีความสุขลึกๆ ที่ซื้อไม่ได้ และมีความสุขเล็กๆ จากการเป็นมนุษย์ธรรมดา"
      มาหัดจัดดอกไม้
       อิเคบานา ( Ikebana) เป็นศิลปะการจัดวาง ตัดแต่งก้าน ใบและดอกไม้ลงในแจกันหรือภาชนะอื่นๆ อย่างสวยงามของญี่ปุ่น ซึ่งมีพัฒนาการยาวนานกว่า 700 ปี ทำให้รูปแบบของการจัดดอกไม้พัฒนาแตกต่างไปหลากหลายสไตล์ รูปแบบพื้นฐานที่แบ่งง่ายตามรูปทรงของแจกันหรือภาชนะรองรับมี แบบคือ การจัดดอกไม้ในแจกันทรงสูง และการจัดในภาชนะทรงเตี้ย
Heika การจัดในแจกันทรงสูง
       แบบ Heika ที่หมายความรวมถึงการจัดในสไตล์ rikka, seika หรือ shoka เป็นการจัดดอกไม้ในแจกันทรงสูงและเน้นรูปทรงแนวดิ่ง จุดเด่นสำหรับการจัดแบบนี้ เน้นความงามตามธรรมชาติของดอกไม้และการจัดวางที่หรูหราสง่างาม แจกันที่ใช้จะเป็นทรงสูงปากแคบ เมื่อวางดอกไม้ลงไปก้านของดอกไม้จะถูกรวบไว้ติดกันที่บริเวณปากแจกัน
       การจัดแบบ Heika มีองค์ประกอบสำคัญ ข้อ ได้แก่ ดอกฐาน ดอกรองช่วงกลาง และดอกยอดสูงสุด แต่ความยาว มุมและตำแหน่งของกิ่งก้านใบจะวางแตกต่างกันตามสไตล์แยกย่อย สำหรับรูปแบบง่ายที่นิยมกัน มักจะตัดก้านดอกไม้ที่จะวางเป็นฐานให้มีความยาวเพียงหนึ่งเท่าครึ่งของความสูงของแจกัน ส่วนดอกรองและดอกยอดสูงสุดจะตัดก้านให้ยาวเท่าครึ่งหนึ่งของดอกฐาน
      องศาของการจัดวาง ดอกฐานจะเอียงไปข้างหน้า 70 องศา ในแนวดิ่ง และกินเนื้อที่แนวนอนเอียงทางซ้าย 45 องศา ส่วนด้านหน้าของแจกันที่จะหันออก จากนั้นวางดอกรองเสียบไว้ด้านหลังของดอกฐาน เพื่อเพิ่มมิติความหนาแน่นของพื้นที่ โดยให้ก้านดอกรองส่วนที่โผล่พ้นจากปากแจกันมีความยาวครึ่งหนึ่งของก้านฐาน และดอกยอดวางไว้ตรงกึ่งกลางแจกัน
       ส่วนของใบประดับจะเอียงเป็นพุ่มทางด้านซ้ายของดอกไม้ ส่วนยอดที่มีก้านยาวตั้งตรงดิ่งอยู่กึ่งกลางความสูงเพียงครึ่งของก้านใบประดับที่รองอยู่ด้านหลัง เมื่อเติมดอกไม้สั้นเพียงครึ่งของดอกยอดตรงกลางเพิ่ม
       บริเวณด้านหน้าเยื้องไปฝั่งขวาของแจกัน ก็เสร็จสมบูรณ์แบบ รูปลักษณ์ที่ออกมาจะเป็นช่อดอกไม้เรียบหรู
       สไตล์แยกย่อยจาก Heika ที่รู้จักกันแพร่หลายมี rikka (ดอกไม้ตั้งตรง), seika หรือ shoka (จัดให้เป็นธรรมชาติเหมือนดอกไม้อยู่บนต้น)
Moribana การจัดในภาชนะทรงเตี้ย
       การจัดดอกไม้ในภาชนะหรือแจกันรูปทรงเตี้ยในแนวนอน เรียกว่า Moribana จุดเด่นของการจัดแบบนี้คือการเปิดพื้นที่แสดงความสวยงามของดอกไม้ในแนวนอนและอวดรูปทรงดอกไม้บานเต็มดอก รูปลักษณ์เมื่อจัดเสร็จเหมือนพุ่มดอกไม้
       ขณะที่การจัดแบบ heika มีพัฒนาการยาวนานมาหลายศตวรรษและมีแบบแผนและวิธีการซับซ้อน ส่วน moribana เพิ่งเกิดขึ้นช่วงร้อยปีนี่เอง และไม่มีความซับซ้อนมากนัก
       อย่างไรก็ตามการจัดแบบ moribana ก็มีสไตล์แยกย่อยหลากหลาย ขึ้นอยู่กับมุมเอียงของก้านดอกฐาน ก้านดอกรองและก้านดอกยอด สไตล์ที่เสียบดอกไม้แบบตั้งตรงเป็นแบบพื้นฐานและได้รับความนิยมที่สุด ในด้านมุมมอง รูปแบบเสียบก้านตั้งตรงเป็นที่เชื่อว่าสร้างความรู้สึกฐานให้มั่นคง หนักแน่น
       การจัดแบบพื้นฐานของ moribana จะใช้ก้านดอกฐานความยาวเท่าเส้นผ่าศูนย์กลางของภาชนะบวกกับความลึกของก้นภาชนะ ก้านดอกรองตัดให้ความยาว ใน ของก้านฐาน และก้านดอกยอดตัดให้เหลือความยาวแค่ครึ่งหนึ่งของก้านดอกฐาน
       การจัดวางเริ่มจากก้านดอกฐานเสียบตั้งตรงในแนวดิ่ง ตามด้วยก้านดอกรองที่เสียบให้เอียงซ้าย 45องศา และโน้มมาด้านหน้าของแจกันหรือภาชนะบริเวณทำมุม 30 องศา ก้านดอกยอดเสียบให้โน้มกิ่งราว60 องศามาด้านหน้าเอียงไปมุมขวาภาชนะ 45 องศา เมื่อมองจากด้านบน(มุมก้ม)จะเห็นก้านดอกที่สามทำมุมเป็นรูปสามเหลี่ยมทางฝั่งขวาของภาชนะ ให้นำดอกไม้มาเติมพื้นที่ว่างในสามเหลี่ยมนั้น เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
        เอกลักษณ์ของ Ikebana คือการใช้ดอก ก้านและใบเพียงเล็กน้อย มาจัดวางให้เกิดมุมที่จะอวดความงามตามธรรมชาติของดอกไม้เหล่านั้น ซึ่งอาศัยความสอดคล้องลงตัวระหว่างดอกไม้และภาชนะที่ใช้จัด และการเลือกชนิดของดอกไม้ใบประดับจะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เราจะนำแจกันนอนไปวางตกแต่ง
        Ikebana เน้นปริมาณดอกไม้ใบประดับเพียงแต่น้อย ไม่เน้นการจัดแบบซ้อนทับหลายชั้นด้วยมวลไม้นานาพรรณเหมือนการจัดดอกไม้ในโลกตะวันตก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น